อัครมหาเสนาบดี (จีน: ??; พินอิน: ch?ngxi?ng) เป็นชื่อตำแหน่งข้าราชการประจำชั้นสูงสุดในประเทศจีนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจมีอายุย้อนหลังไปถึงสมัยราชวงศ์ฉินที่เริ่มกำหนดตำแหน่ง "นายกแห่งข้าราชการพลเรือนทั้งปวง" (head of all civil service officials) อำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งนี้แตกต่างกันไปในแต่ละสมัย
ชื่อตำแหน่งนี้ ในภาษาไทยแปลไว้ต่าง ๆ กัน เช่น ในเรื่อง สามก๊ก เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ใช้ว่า "เจ้าพระยามหาอุปราช" และเรียกสั้น ๆ ว่า "มหาอุปราช" กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) คงหยิบยกเอาชื่อบรรดาศักดิ์จากพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนมาใช้ ส่วนละครชุดจีนแปลอย่างอื่นก็มี เช่น สมุหนายก อำมาตย์ เสนาบดี มหาอำมาตย์
ในยุคชุนชิว เมื่อ 685 ปีก่อนคริสต์ศักราช ข้าราชการรัฐฉีชื่อ "กวั่น จ้ง" (จีน: ??; พินอิน: Gu?n Zh?ng) ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีคนแรกในประเทศจีน ต่อมาในยุคจั้นกว๋อ รัฐฉินเรียกชื่อตำแหน่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการว่า "นายกแห่งข้าราชการพลเรือนทั้งปวง" ยุคนั้นบางคราวมีอัครมหาเสนาบดีสองคน คนหนึ่งเรียก "อัครมหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย" (Chancellor of the Left) หรือ "เอกอัครมหาเสนาบดี" (Senior Chancellor) อีกคนเรียก "อัครมหาเสนาบดีฝ่ายขวา" (Chancellor of the Right) หรือ "อุปอัครมหาเสนาบดี" (Junior Chancellor)
ยุคจั้นกว๋อสิ้นสุดลงเมื่อฉินชื่อหวงผนึกแว่นแคว้นและสถาปนาราชวงศ์ฉิน อัครมหาเสนาบดี ราชเลขาธิการ (Imperial Secretary) กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Grand Commandant) สามตำแหน่งนี้สำคัญที่สุดในการบริหารประเทศ รวมกันเรียกว่า "สามมูลนาย" (จีน: ??; พินอิน: s?n g?ng; Three Excellencies)
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/อัครมหาเสนาบดี_(ประเทศจีน)